top of page

ไขรหัสการทำงานระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ตอนที่ 1 - ภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ


ภูมิคุ้มกัน

เมื่อหลายๆคนได้อ่านคำว่า “ระบบภูมิคุ้มกัน” ก็คงจะนึกถึงโรคหวัด หรืออาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง หรือบางคนอาจนึกถึงระบบที่ช่วยปกป้องและดูแลให้ร่างกายของเราทำงานได้เป็นปกติ และช่วยให้สุขภาพของเราสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคภัยต่างๆ ซึ่งนั่นถูกต้องทั้งหมดเลยค่ะ สำหรับผู้ที่เคยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มมาก่อนส่วนมากจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเป็นระบบที่มีความซับซ้อนและยากในการทำความเข้าใจ แต่ในวันนี้อิมมูคอร์ (Immucore) จะมาช่วยย่อยกระบวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในรูปแบบเข้าใจง่ายขึ้นให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ


เริ่มต้นกันที่ ระบบภูมิคุ้มกันคืออะไร และมีหน้าที่อะไรในร่างกายของเรา?

ระบบภูมิคุ้มกันคือการทำงานร่วมกันของหน่วยต่างๆของร่างกาย ตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดก็คือเซลล์ เซลล์เมื่อประกอบรวมกันก็กลายเป็นเนื้อเยื่อ และเนื้อเยื่อรวมเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้นมาอีกเป็นอวัยวะ ซึ่งหน่วยต่างๆเหล่านี้ทำงานประสานกันเป็นระบบ เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและเพื่อคงความสมดุลของร่างกายเอาไว้ เซลล์ต่างๆในระบบภูมิคุ้มกันนี้ทำหน้าที่เป็นยามคอยเฝ้าระวังการบุกรุกของแบคทีเรียและไวรัส และยังมีความสามารถในการต่อสู้กับผู้บุกรุกจากภายนอกเหล่านี้ รวมไปถึงเซลล์ผิดปกติในร่างกายของเราเอง เช่น เซลล์มะเร็ง เป็นต้น

ระบบภูมิคุ้มกันถูกแบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ และระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ แต่เนื่องจากเรื่องราวของระบบภูมิคุ้มกันนั้นมีรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก เราจึงขอแบ่งออกเป็น 2 ตอนให้ผู้อ่านได้ติดตามกันค่ะ สำหรับเรื่องราวในบทความตอนแรกจะเป็นเรื่องราวของ ระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะก่อนนะคะ


ภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ ทำงานอย่างไร?

ภูมิคุ้มกันแบบไม่จําเพาะ เป็นด่านแรกเมื่อร่างกายพบสิ่งแปลกปลอม เริ่มตั้งแต่การป้องกันทางกายภาพของร่างกายเช่นผิวหนัง และเยื่อบุต่างๆในระบบทางเดินหายใจ ถ้าสิ่งแปลกปลอมสามารถฝ่าทะลุสิ่งป้องกันทางกายภาพเข้ามาได้ เซลล์ภูมิคุ้มกันแบบไม่จําเพาะก็จะออกมาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเซลล์เหล่านั้นได้แก่ โมโนไซต์ แมคโครฟาจ และนิวโทรฟิล เซลล์เหล่านี้จะออกมาทำหน้าที่ป้องกันการบุกรุกด้วยการกลืนกินเซลล์แปลกปลอมที่เป็นอันตราย และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เซลล์ภูมิคุ้มกันแบบไม่จําเพาะ ก็เหมือนกับทหารเกณฑ์ ที่มีหน้าที่ออกมาดูว่าศัตรูคือใคร มีจำนวนเท่าไหร่ พกอาวุธอะไร และมีความสามารถอะไรบ้าง ถึงแม้ทหารเกณฑ์จะสามารถต่อสู้ได้ขั้นพื้นฐาน แต่ก็ไม่สามารถต่อสู้กับศัตรูที่มีอาวุธหรือความชำนาญบางอย่างได้ ทหารเกณฑ์จึงต้องส่งข้อมูลไปให้ “ทหารชำนาญการเฉพาะทาง” หรือ “ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ” ได้วิเคราะห์ และมาจัดการศัตรูในภายหลัง


ทำความรู้จักเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จําเพาะเพิ่มเติมกันดีกว่า




1. นิวโทรฟิล

เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวกลุ่มแรกที่จะเดินทางมาสู่จุดที่เกิดการอักเสบ พวกมันมีหน้าที่หลักในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา และเซลล์เชื้อโรคอื่นๆ โดยทำการยับยั้งการแบ่งเซลล์อย่างรวดเร็วของเชื้อโรค นิวโทรฟิลสามารถทำลายเชื้อโรคได้ด้วยการใช้กระบวนการต่างๆ เช่น การใช้อนุมูลอิสระ การหลั่งเอนไซม์ proteolytic และการสร้างเพปไทด์ชนิดที่สามารถทำลายเชื้อโรคได้ กระบวนการตอบสนองการอักเสบของนิวโทรฟิลเหล่านี้มีความสำคัญในการยับยั้งการติดเชื้อ และสามารถป้องกันการเกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อซึ่งนำไปสู่อาการอักเสบเรื้อรังได้


ประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคของเซลล์นิวโทรฟิลนั้นเสื่อมไปตามอายุของร่างกาย


ถึงแม้ว่าอายุที่เพิ่มขึ้นของมนุษย์จะไม่ส่งผลให้จำนวนของนิวโทรฟิลลดลง แต่สิ่งที่เสื่อมถอยลงนั้นกลับเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคของนิวโทรฟิล การเสื่อมความสามารถในการทำลายเชื้อโรคเกิดขึ้นกับกระบวนการ chemotaxis, phagocytosis และ superoxide ทำให้นิวโทรฟิลจัดการแบคทีเรียได้ช้าลง และทำให้แบคทีเรียแบ่งเซลล์ได้รวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบที่ยาวนาน รุนแรง และทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่อักเสบถูกทำลายมากขึ้น

โดยปกติแล้วนิวโทรฟิลเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีอายุสั้น แต่เมื่อมาอยู่ในจุดที่เกิดการอักเสบ มันจะได้รับการกระตุ้นโดยสาร “ไซโตไคน์” (โปรตีนที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างเซลล์ภูมิคุ้มกัน) ชนิดต่างๆให้มีชีวิตต่อไปเพื่อทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคและยับยั้งการอักเสบ ทำให้เมื่อเราไปตรวจเลือดในช่วงที่มีการอักเสบ จะพบว่ามีจำนวนนิวโทรฟิลสูงกว่าปกตินั่นเองค่ะ



2. โมโนไซต์/แมคโครฟาจ


โมโนไซต์มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์ต้นกำเนิดไมอีลอยด์ และจะกลายร่างเป็นแมคโครฟาจได้ด้วยกระบวนการกระตุ้นที่มีรูปแบบเฉพาะ โดยความสามารถของแมคโครฟาจจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มันทำงานในร่างกายของมนุษย์ แมคโครฟาจมีหน้าที่พิเศษในการตรวจจับและทำลายแบคทีเรีย รวมถึงสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายอื่นๆ ด้วยวิธี phagocytosis หรือการกลืนกินเซลล์แปลกปลอมเหล่านั้น และสร้างอนุมูลอิสระมาทำลายเซลล์เหล่านั้น นอกจากนั้นหน้าที่สำคัญของแมคโครฟาจยังรวมไปถึงการหลั่ง “ไซโตไคน์” ที่จำเป็นต่อการเกิดกระบวนการอักเสบต่างๆอีกด้วย


ประสิทธิภาพในการสร้างไซโตไคน์ของเซลล์แมคโครฟาจนั้นเสื่อมไปตามอายุของร่างกาย




งานวิจัยจำนวนมากระบุว่าการหลั่งไซโตไคน์ของแมคโครฟาจจะลดประสิทธิภาพลงเมื่อร่างกายคนเรามีอายุมากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจจับและการทำลายเชื้อโรคของโมโนไซต์และแมคโครฟาจลดลงไปด้วย ซึ่งส่งผลให้การอักเสบนั้นยาวนานและรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีเซลล์ชนิดอื่นๆในร่างกายที่สามารถสังเคราะห์และหลั่งไซโตไคน์ชนิดเดียวกับโมโนไซต์และแมคโครฟาจได้ ซึ่งมีเซลล์บางเซลล์ไม่ได้ทำหน้าที่แย่ลงไปตามอายุ ทำให้เราไม่ได้ขาดไซโตไคน์เหล่านั้นไปซะทีเดียว

ก่อนที่บทความจะยาวเกินไป เราขอจบที่การทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จําเพาะทั้ง 2 กลุ่มนี้ ในความจริงแล้วยังมีเซลล์ภูมิคุ้มกันแบบไม่จําเพาะอีกหนึ่งชนิด ซึ่งมีความสำคัญในการเชื่อมระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จําเพาะและภูมิคุ้มกันแบบจําเพาะเข้าด้วยกัน โดยเราขอยกไปพูดถึงเซลล์ชนิดนี้ในบทความถัดไปซึ่งมีชื่อว่า ไขรหัสการทำงานระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ตอนที่ 2 – ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ อย่าลืมติดตามอ่านบทความตอนต่อไปเพื่อสาระความรู้ที่ต่อเนื่องและครบถ้วนนะคะ

หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ อิมมูคอร์ (Immucore) สามารถติดต่อได้ที่ Line@: @innerwell หรือ www.innerwell.me







Comments


bottom of page